เกี่ยวกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์

ประวัติความเป็นมา


ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 75 บัญญัติให้รัฐดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฏหมายคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล จัดระบบงานของกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพและอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนได้อย่างรวดเร็วและเท่าเทียมกัน ขณะเดียวกันต้องสนองตอบนโยบายของรัฐบาลด้วยคณะรัฐมนตรี ได้แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 26กุมภาพันธ์  2544 ด้านการพัฒนากระบวนการยุติธรรมและการปฏิรูปกฏหมายเรื่อง เร่งรัดการจัดโครงสร้างกระทรวงยุติธรรมให้มีบทบาทและหน้าที่ครอบคลุมกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพ งานด้านนิติวิทยาศาสตร์มีความสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการยุติธรรมที่ต้องมีการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ซึ่งที่ผ่านมางานบริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถให้บริการได้อย่างทั่วถึงงานบางงานในกรุงเทพฯ ประชาชนยังได้รับการบริการไม่ทั่วถึงทุกคดีและไม่สามารถให้บริการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ประกอบกับงานบริการด้านนิติวิทยาศาสตร์กระจัดกระจายอยู่ในหลายหน่วยงาน เช่นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทบวงมหาวิทยาลัย กระทรวงสาธารณสุข สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหม โดยเฉพาะในอดีตที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานใดทำหน้าที่ประสานงานโดยตรง และกำหนดมาตรฐานกลาง ที่จะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ ของงานด้านนิติวิทยาศาสตร์มีประสิทธิภาพเข้าสู่ความเป็นมาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวม

แนวคิดในการจัดตั้งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์


1. ระบบการตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์เป็นระบบที่ต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางโดยเฉพาะเป็นองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สถาบันหลักที่ทำงานด้านนี้จึงควรเป็นสถาบันที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้มีความเป็นกลางมีความโปร่งใสมีการตรวจสอบได้ ซึ่งสอดคล้องกับการปฏิรูประบบราชการ
2. การตรวจทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ควรมีหน่วยงานกลางเป็นหน่วยประสานเรื่องการดำเนินการรวมทั้งงบประมาณให้กับหน่วยงานด้านต่างๆเพื่อให้ประชาชนหรือผู้เสียหายสามารถเข้าถึงการบริการอีกทั้งจะเป็นแรงจูงใจสำหรับการปฏิบัติงานเนื่องจากบุคลากรทางด้านนี้จะได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากภาครัฐผ่านทางกระทรวงยุติธรรมซึ่งมีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงานได้ดี
3. ควรมีการกำหนดมาตรฐานกลางของการดำเนินงานการตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์ทุกสาขาและมีการควบคุมดูแลให้มีการดำเนินงานตามมาตรฐานโดยการขึ้นทะเบียนสถานประกอบการและบุคคลที่ปฏิบัติงานด้านนี้ทั้งนี้ประชาชนจะเชื่อมั่นศรัทธาในงานด้านนิติวิทยาศาสตร์และจะทำให้กระบวนการยุติธรรมเข้าสู่มาตรฐานสากลได้มากยิ่งขึ้น
4. การกำหนด นโยบาย การกำหนดเกณฑ์มาตรฐานกลางการตรวจสอบรวมถึงด้านจริยธรรมของผู้ปฏิบัติงาน ควรให้มีคณะกรรมการระดับชาติซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนจากส่วนต่างๆของกระบวนการยุติธรรมเป็นผู้สนับสนุนแต่งตั้งแต่ในระยะเวลา3 ถึง5 ปีควรผลักดันให้เป็นคณะกรรมการอิสระเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูง
5. กำหนดให้สถาบันใหม่นี้ ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายอีกทั้งเป็นที่พึงเวลาประชาชนมีปัญหาข้อร้องเรียนซึ่งในปัจจุบันไม่มีหน่วยงานกลางใดๆ ยอมดำเนินการให้
6. โครงสร้างการบริการ การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ มีความถูกต้อง รวดเร็วและมีความโปร่งใส
7. มีการปลูกฝังจริยธรรมในการปฏิบัติงาน